การจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย


เป็นการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆให้กับเด็กโดยผ่านกิจกรรมที่จัดเตรียมไว้เพื่อให้เด็กรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคม การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยจึงเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการศึกษาปฐมวัย ครูจึงควรคำนึงถึงความพร้อม ความสนใจและความต้องการของเด็ก เพราะครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความสามารถในการจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนในชั้นเรียน ดังนั้นการจัดกิจกรรมที่เด็กได้มีโอกาสใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองจากความต้องการ ความสนใจ ความอยากรู้ อยากเห็นเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเด็กให้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพและตอบสนองความแตกต่างของเด็กแต่ละคนได้เป็นอย่างดี


แผนการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
เรื่อง การเปลี่ยนแปลงสถานะ

จุดประสงค์ 
 1. ฝึกการสังเกต สำรวจ การเปรียบเทียบ
2. ฝึกการแสดงความคิดเห็น
3. ฝึกทักษะการลงความเห็น
4. ฝึกทักษะในการฟังและการพูด
5. ฝึกทักษะการสื่อความหมาย

สาระการเรียน
1. สาระที่ควรเรียนรู้ : 1. ขั้นตอนการทำไอศกรีม
2. การเปลี่ยนแปลงสถานะจากน้ำเป็นน้ำแข็ง
3. การเปลี่ยนแปลงสถานะจากของแข็งละลายกลายเป็นน้ำ
4. การเปลี่ยนแปลงสถานะจากน้ำระเหยกลายเป็นไอ
2. ประสบการณ์สำคัญ : 1. การทดลองทำไอศกรีม
2. การสังเกต การสำรวจ การทดลอง การเปรียบเทียบ การตั้งสมมติฐาน
3. การสื่อความหมายด้วยการจดบันทึกจากคำพูดและคำตอบของเด็ก

การดำเนินกิจกรรม
ขั้นนำ
ขั้นที่ 1 ขั้นกำหนดปัญหา


ครูสนทนากับเด็กเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในการทำอาหารและแนะนำเด็กเกี่ยวกับการทดลองทำไอศกรีม พร้อมใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ “ เด็กๆลองสังเกตการเปลี่ยนแปลงซิว่าน้ำหวานเปลี่ยนเป็นน้ำแข็งได้จริงหรือไม่ หรือของเหลวเป็นของแข็งได้จริงหรือไม่”

ขั้นที่ 2 ขั้นตั้งสมมติฐาน
เด็กๆคาดเดาคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้ของปัญหา เช่น นำน้ำหวานมาใส่แก้วให้เด็กสังเกตลักษณะของน้ำหวานที่เป็นของเหลว ครูกับเด็กช่วยกันเทน้ำหวานจากในแก้วลงในถุงพลาสติกมัดยางให้แน่น แล้วให้เด็กนำถุงพลาสติกมาใส่ลงในกระบะ หรือกระติกที่มีน้ำแข็งอยู่เต็ม โดยใส่เกลือในน้ำแข็งด้วย

ขั้นสอน
ขั้นที่ 3 เก็บรวบรวมข้อมูล


ครูให้เด็กทดลองปฏิบัติหมุนกระบะหรือกระติก และรอเวลาให้น้ำหวานเกิดการแข็งตัว ครูนำไอศกรีมออกมาจากกระบะหรือกระติก ให้เด็กสังเกตการแข็งตัวของน้ำหวาน และร่วมกันสนทนากับเด็กเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง ครูนำไอศกรีมมาวางทิ้งไว้ แล้วสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการละลาย ครูกับเด็กร่วมกันสนทนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสถานะของสารจากของแข็งเป็นของเหลว ครู : คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการ

ขั้นที่ 4 ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล


ครูถามคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดหาเหตุผลจากกระบวนการทดลอง ดังนี้
1. อาหารต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงสถานะ(ของแข็ง ของเหลว แก๊ส ) หรือไม่ อย่างไร
2. น้ำหวานเปลี่ยนเป็นน้ำแข็งได้อย่างไร
3. น้ำแข็งละลายกลายเป็นน้ำได้อย่างไร
4. น้ำระเหยกลายเป็นไอได้อย่างไร

ขั้นสรุป
ขั้นที่ 5 ขั้นอภิปรายและลงข้อสรุป

ครูกับเด็กร่วมกันสรุปและอภิปรายการเปลี่ยนแปลงสถานะจากน้ำหวานแข็งตัวเป็นน้ำแข็ง น้ำแข็งละลายกลายเป็นน้ำ และน้ำเดือดกลายเป็นไอ โดยเชื่อมโยงจากประสบการณ์เดิมของเด็ก แล้วร่วมกันบันทึกลงในแบบบันทึกข้อมูลจากการทดลองและสังเกตการเปลี่ยนแปลงสถานะของสารโดยครูบันทึกจากคำพูดและคำตอบของเด็ก
ครู : อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดที่ได้จากการเรียนรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงอาหารจากของแข็งเป็นของเหลวเรียกว่า “ การละลาย ” การเปลี่ยนแปลงจากของเหลวเป็นแก๊สเรียกว่า“ การระเหย ” และจากของเหลวเป็นของแข็งเรียกว่า “ การแข็งตัว ”

สื่อและแหล่งเรียนรู้
1) กระติกน้ำแข็ง หรือกระบะน้ำแข็ง
2) น้ำหวาน
3) ถุงพลาสติก
4) เกลือ

การประเมินผล
สังเกต
1) ความสนใจและความร่วมมือในการสังเกต สำรวจ และทดลองการเปลี่ยนแปลงสถานะของสาร
2) การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ การแข็งตัว การระเหย การละลาย
3) การเปรียบเทียบความแตกต่างของน้ำหวานก่อนกลายเป็นน้ำแข็ง และน้ำแข็งระเหยเป็นไอ
4) การใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการ สังเกต สำรวจ และทดลอง
5) การพูดและการตอบคำถามของเด็ก
6) การทำงานร่วมกับผู้อื่น

อ้างอิง : ประภาพรรณ สุวรรณสุข. (2538).การจัดประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย